หลักการใช้งานกราฟิกรูปแบบต่างๆ

แหล่งที่มา   :   www.appdevelopermagazine.com

     กราฟิกในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนภูมิหรือกราฟ เส้นเวลา หรือพิกโตแกรม สามารถนำมาใช้ในการสื่อสารข้อมูล รวมถึงสามารถใช้ในการพยากรณ์แนวโน้มของข้อมูล ซึ่งกราฟิกแต่ละประเภทนั้นมีความเหมาะสมกับชนิดของข้อมูลหรือจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การเลือกใช้งานกราฟิกให้เหมาะสมนอกจากจะช่วยเรื่องของความสวยงามแล้วยังช่วยให้ผู้ชมเข้าใจในข้อมูลเรื่องนั้นๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย

แผนภูมิหรือกราฟ

     แผนภูมิหรือกราฟเป็นหนึ่งในกราฟิกที่นิยมนํามาใช้ในการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจํานวนหรือตัวเลข เนื่องจากเป็นแผนภูมิที่เข้าใจง่าย แผนภูมิมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีข้อดี ข้อเสียและข้อควรระวังที่แตกต่างกัน
     1) แผนภูมิรูปภาพ (Picture Graph)เป็นแผนภูมิที่ประกอบไปด้วยแกนนอน (แกน X) และแกนตั้ง (แกน y) และเลือกใช้รูปภาพหรือไอคอนแทนจํานวนของสิ่งนั้นๆ ซึ่งส่วนมากมักมีการกําหนดอัตราส่วนของข้อมูลเช่น ไอคอน 1 รูปแทนสิ่งของจํานวน 10 ชิ้น (1 : 10) เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลในแผนภูมิรูปภาพจะยิ่งถูกต้องเมื่ออัตราส่วนดังกล่าวยิ่งน้อยลง เช่น ไอคอน 1 รูปแทนสิ่งของจํานวน 1 ชิ้น (1 : 1)
ข้อดี
          - หากออกแบบแผนภูมิได้อย่างสวยงามและสอดคล้องกับส่วนอื่นๆ ของอินโฟกราฟิกจะยิ่งช่วยขับเน้นความสวยงามและน่าสนใจ
          - แผนภูมิรูปภาพสามารถเข้าใจได้โดยง่าย ผู้ชมไม่ต้องใช้เวลาในการแปลผลมากนัก เหมาะสําหรับการศึกษาของเด็ก
          - เปรียบเทียบข้อมูลได้ง่าย
ข้อเสีย
          - ไม่เหมาะกับข้อมูลที่มีความละเอียดหรือมีเลขนัยสําคัญสูงเนื่องจากอัตราส่วนระหว่างรูปไอคอนกับจํานวนจริงอาจไม่ลงตัว ทําให้ต้องใช้รูปไอคอนแบบไม่เต็มรูป ซึ่งยากต่อการทำความเข้าใจ
          - ไม่เหมาะสําหรับงานที่จริงจังหรือเป็นทางการ
          - ไม่เหมาะสําหรับข้อมูลที่มีค่าเป็นลบ
ข้อควรระวัง
          – การเลือกใช้รูปภาพหรือไอคอนควรเลือกสไตล์ให้ตรงกัน เพื่อให้อินโฟกราฟิกถูกออกแบบไปในทิศทางเดียวกัน
          - แม้ว่าแผนภูมิรูปภาพจะยิ่งถูกต้องเมื่ออัตราส่วนระหว่างไอคอนกับจํานวนสิ่งของจริงๆ จะน้อยลงแต่หากสิ่งของมีจํานวนมาก จะส่งผลให้ไอคอนมีจํานวนมากด้วยสร้างความสับสนในการนับไอคอนมากขึ้น ดังนั้น จํานวนไอคอนแทนสิ่งของสูงสุดไม่ควรเกิน 10 ไอคอน
          - อัตราส่วนระหว่างไอคอนกับจํานวนที่ไม่คุ้นเคย เช่น ไอคอน 1 รูปแทนสิ่งของจํานวน 7.5 ชิ้น (1 : 7.5) สร้างความสับสนในการคูณกลับหาจํานวนจริง ดังนั้นควรเลือกใช้อัตราส่วนที่ง่าย ต่อการคํานวณเช่น 1 : 2, 1 : 5, 1: 10 เป็นต้น
          - อย่าลืมระบุอัตราส่วนระหว่างไอคอนกับจํานวนกํากับไว้ในแผนภูมิด้วยทุกครั้ง
     2) แผนภูมิแท่ง (Bar Charts) เป็นแผนภูมิที่ประกอบไปด้วยแกนนอน, แกนตั้ง และแท่งสี่เหลี่ยม (หรือรูปทรงอื่นๆ ที่ บอกความสูงได้) ที่มีความกว้างเท่ากัน ส่วนความยาวหรือความสูงของแท่งจะแปรผันตาม ข้อมูล โดยแผนภูมิแท่งยังสามารถแบ่งออกได้เป็น แผนภูมิแท่งเชิงเดี่ยว, แผนภูมิแท่ง เชิงซ้อน, แผนภูมิแท่งซ้อนกัน, แผนภูมิแท่ง ส่วนประกอบ, แผนภูมิแท่งบวกลบ, แผนภูมิ แท่งพีระมิด แผนภูมิแท่งนั้นเหมาะสําหรับใช้การเปรียบเทียบจํานวนของข้อมูลในแต่ละชุด เช่น รายรับในแต่ละเดือน, จํานวนพนักงานในแต่ละบริษัท และสามารถระบุจํานวน ตัวเลขบนแต่ละแห่ง เพื่อช่วยให้แปลข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ข้อดี
          - เป็นแผนภูมิที่สามารถสร้างและเข้าใจได้ง่ายที่สุด เหมาะกับข้อมูลที่มีความละเอียดสูงหรือมีเลขนัยสําคัญสูง
          - เหมาะสําหรับงานที่จริงจังหรือเป็นทางการ
          - เหมาะสําหรับการเปรียบเทียบข้อมูล
          - สามารถใช้กับข้อมูลที่มีค่าเป็นลบได้
          - สามารถใช้ได้ทั้งแผนภูมิแท่งแนวตั้งและแผนภูมิแท่งแนวนอน
ข้อเสีย
          - หากข้อมูลมีความแตกต่างกันมากเกินไปจะ ทําให้ความสูงของแต่ละแท่งต่างกัน จนบางครั้งมองไม่เห็นแท่งความสูงของข้อมูลจํานวนน้อยๆ ข้อควรระวัง
          - ต้องระบุแกนนอน, แกนตั้ง และหน่วยกํากับใน แผนภูมิแท่งทุกครั้ง
          - ความกว้างของแต่ละแท่งควรเท่ากันและสม่ำเสมอตลอดทั้งแกน
          - หากมีคําอธิบายประกอบจะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจแผนภูมิมากยิ่งขึ้น
          - หากมีข้อมูลหลายชุดในแผนภูมิเดียวกัน ควรแยกความแตกต่างของแต่ละแท่งด้วยการใช้สี หรือลวดลายของแท่งและมีคําอธิบายประกอบว่าแต่ละสีหรือลวดลายนั้นแทนข้อมูลอะไร
     3) แผนภูมิวงกลม (Pie Charts) เป็นแผนภูมิที่มีลักษณะเป็นวงกลม โดยกําหนดให้ 360 องศาของวงกลมเท่ากับผลรวมของข้อมูลทั้งชุด และแบ่งองศาภายในวงกลมออกเป็น ส่วนๆ ตามอัตราส่วนของข้อมูลนั้น เหมาะสําหรับการ “เปรียบเทียบ” ข้อมูลภายในชุดเดียวกันแบบคร่าวๆ แต่ไม่เหมาะหากต้องระบุข้อมูลโดยละเอียด
ข้อดี
          - เปรียบเทียบข้อมูลในชุดเดียวกันได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว
          - เป็นแผนภูมิที่สวยงาม เหมาะสําหรับการนําไปใช้เป็นส่วนประกอบในอินโฟกราฟิก
ข้อเสีย
          - มีความยุ่งยากในการสร้าง เพราะต้องมีการแปลงผลรวมข้อมูลทั้งชุดให้อยู่ในรูปของเปอร์เซนต์ก่อนจะแปลงเป็นองศาของวงกลม
          - เป็นการเปรียบเทียบข้อมูลในชุดเดียวกันเท่านั้น หากข้อมูลมีหลายชุด จําเป็นต้องมีแผนภูมิวงกลมหลายวง
- ไม่สามารถใช้กับข้อมูลที่มีค่าเป็นลบหรือเป็นศูนย์ได้
- หากข้อมูลมีความแตกต่างกันมากเกินไปจะทําให้องศาข้อมูลในวงกลมต่างกัน จนบางครั้งมองไม่เห็นพื้นที่ในวงกลมของข้อมูลจํานวนน้อยๆ
ข้อควรระวัง
          - ควรแยกความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ด้วยการใช้สีหรือลวดลายและมีคําอธิบายประกอบว่าแต่ละสีหรือลวดลายนั้นแทนข้อมูลอะไร
          - ควรกําหนดจุดเริ่มต้นองศาของแผนภูมิอยู่ตรงตําแหน่ง 12 นาฬิกา และวนตามเข็มนาฬิกา
     4) แผนภูมิโดนัท (Doughnut Charts) แผนภูมิโดนัทมีหลักการออกแบบเช่นเดียวกับแผนภูมิวงกลม แต่สามารถแสดงผลชุดข้อมูล ได้มากกว่า 1 ชุด โดยการใช้วงกลมซ้อนกันเป็นชั้นๆ
ข้อดี
          - เปรียบเทียบข้อมูลในชุดเดียวกันและระหว่างชุดได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว
          - เป็นแผนภูมิที่สวยงาม เหมาะสําหรับการนําไปใช้เป็นส่วนประกอบในอินโฟกราฟิก
ข้อเสีย
          - มีความยุ่งยากในการสร้าง เพราะต้องมีการแปลงผลรวมข้อมูลทั้งชุด ให้อยู่ในรูปของเปอร์เซ็นต์ก่อนจะแปลงเป็นองศาของวงกลม
          - ไม่สามารถใช้กับข้อมูลที่มีค่าเป็นลบหรือเป็นศูนย์ได้
          - เนื่องจากแผนภูมิวงนอกจะมีขนาด ใหญ่กว่าวงด้านใน ทําให้ผู้ชมอาจคิดว่าข้อมูลของวงด้านนอกมีปริมาณมากกว่าด้านในซึ่งเป็นการแปลความหมายที่ไม่ถูกต้อง
ข้อควรระวัง
          - ควรแยกความแตกต่างของแต่ละ พื้นที่และชุดข้อมูล ด้วยการใช้สีหรือ ลวดลาย และมีคําอธิบายประกอบ ว่าแต่ละสีหรือลวดลายนั้นแทนข้อมูลอะไร
          - ควรกําหนดจุดเริ่มต้นองศาของแผนภูมิอยู่ตรงตําแหน่ง 12 นาฬิกาและวนตามเข็มนาฬิกาv           - แผนภูมิชนิดนี้เป็นการเปรียบเทียบข้อมูลในวงของตนเองเท่านั้น ดังนั้นพื้นที่ของวงหนึ่งที่ดูน้อยกว่าอีกวงอาจไม่ได้หมายความว่าปริมาณข้อมูลของวงแรกจะน้อยกว่าอีกวงเสมอไป
     5) แผนภูมิเส้น (Line Charts) เป็นแผนภูมิคล้ายกับแผนภูมิแท่ง ซึ่งประกอบด้วยแกนนอนและแกนตั้งแต่เปลี่ยนจากแท่งข้อมูลเป็นจุดบนแผนภูมิ ก่อนจะใช้เส้นเชื่อมโยงระหว่างจุดเข้าด้วยกัน แผนภูมิเส้นนั้นมีความต่อเนื่องทําให้เหมาะสําหรับการแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามเวลา รวมถึงสามารถใช้ในการพยากรณ์แนวโน้มในอนาคตได้ เส้นที่เชื่อมโยงระหว่างจุดเข้าด้วยกันไม่จําเป็นต้องเป็นเส้นตรงเสมอไปอาจใช้เป็นเส้นโค้งเพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของข้อมูล
ข้อดี
          - เหมาะสําหรับการแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และพยากรณ์แนวโน้มต่อไปได้
          - เป็นแผนภูมิที่สามารถสร้างและเข้าใจได้โดยง่าย
          - เหมาะสําหรับงานที่จริงจังหรือเป็นทางการ
          - สามารถใช้กับข้อมูลที่มีค่าเป็นลบได้
          - เหมาะสําหรับการแสดงข้อมูลหลายๆ ชุดในแผนภูมิเดียวกัน
ข้อเสีย
          - เหมาะสําหรับข้อมูลที่มีค่ามากกว่า 2 จุดขึ้นไป
          - เส้นที่ลากผ่านข้อมูล 2 จุดไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกข้อมูลระหว่าง 2 จุดนั้นๆ
ข้อควรระวัง
          - หากมีข้อมูลหลายชุดบนแผนภูมิเดียวกัน ควรแยกความแตกต่างระหว่างชุดข้อมูลด้วยการใช้สี หรือเส้นลักษณะต่างๆ
          - หากเป็นข้อมูลที่มีความต่อเนื่องหรือมีข้อมูลจํานวนมาก ควรใช้เฉพาะเส้นในแผนภูมิแต่หากข้อมูลไม่ต่อเนื่องและมีจํานวนน้อยควรใช้ทั้งจุดและเชื่อมแต่ละชุดด้วยเส้นตรง
     6) แผนภูมิพื้นที่ (Area Charts) มีรูปแบบคล้ายแผนภูมิเส้น แต่มีการแรเงาพื้นที่ใต้เส้นข้อมูลหรือ ระหว่างเส้นข้อมูลสองเส้น เพื่อแสดงให้เห็นปริมาณความแตกต่างระหว่างเส้นข้อมูล และแสดงให้เห็นผลรวมของความแตกต่างนั้น
ข้อดี
          - เหมาะสําหรับเน้นความสําคัญของการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลา
          - แสดงให้เห็นผลรวมของความแตกต่างระหว่างข้อมูล
          - สามารถซ้อนข้อมูลแต่ละชุดเป็น 2 หรือ 3 มิติได้ (Layered Area Charts)
ข้อเสีย
          - เหมาะสําหรับข้อมูลที่มีค่ามากกว่า 2 จุดขึ้นไป
          - ข้อมูลแต่ละชุดไม่ควรซ้อนทับกันแม้แต่จุดเดียว เพราะจะสร้างความสับสนให้กับผู้ชมแต่หากจําเป็นต้องซ้อนทับกันพื้นที่แรเงาที่เกิดการซ้อนต้องเปลี่ยนสีเป็นสีอื่นที่ต่างกับสีของชุด ข้อมูลทั้งสอง
ข้อควรระวัง
          - หากมีข้อมูลหลายชุดบนแผนภูมิเดียวกันควรแยกความแตกต่างระหว่างชุดข้อมูลด้วยการใช้สีแรเงาที่แตกต่างกันและมีคําอธิบายกํากับแต่ละสีประกอบในแผนภูมิด้วย แผนภูมิพื้นที่แสดงให้เห็นอุบัติเหตุบนท้องถนนในแต่ละ เดือน ซึ่งสีแต่ละสีหมายถึงประเภทของสิ่งที่เกิดอุบัติเหตุไล่ตั้งแต่รถยนต์, รถบรรทุก, จักรยานยนต์, จักรยาน และคน เดินเท้า ตามลําดับ
     7) แผนภูมิเรดาร์ (Radar Charts) มีลักษณะคล้ายแผนภูมิเส้นที่นํามาแสดงผลเป็นวงกลม จํานวนเหลี่ยมของเรดาร์จะเท่ากับจํานวนหัวข้อของข้อมูล แผนภูมิเรดาร์ไม่ได้บ่งบอกถึงความต่อเนื่องของข้อมูลจึงมักถูกใช้สําหรับการให้คะแนนในแต่ละหัวข้อมากกว่า เหมาะสําหรับการใช้วิเคราะห์หาจุดอ่อนและจุดแข็งของข้อมูลแต่ละชุด
ข้อดี
          - เหมาะสําหรับการเปรียบเทียบความมากน้อยของข้อมูลในแต่ละชุดในแต่ละหัวข้อ
          - สามารถเปรียบเทียบจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละด้านได้อย่างรวดเร็ว
          - เป็นแผนภูมิที่สวยงาม เหมาะสําหรับการนําไปใช้เป็นส่วนประกอบในอินโฟกราฟิก
ข้อเสีย
          - ไม่สามารถใช้กับข้อมูลที่มีค่าเป็นลบได้
          - หากหัวข้อในแผนภูมิมีมากเกินไปจะทําให้ยากต่อการแปลความหมาย เนื่องจากจะมีเหลี่ยมมุมของเส้นเป็นจํานวนมาก
          - หากข้อมูลมีความแตกต่างกันมากเกินไปจะทําให้ความสูงของแต่ละจุดต่างกันจนบางครั้งมองไม่เห็นความสูงของข้อมูลจํานวนน้อยๆ
ข้อควรระวัง
          - ควรมีหัวข้อในแผนภูมิมากกว่า 2 หัวข้อแต่ไม่มากจนเกินไป
          - หากมีข้อมูลหลายชุดบนแผนภูมิเดียวกัน ควรแยกความแตกต่างระหว่างชุดข้อมูลด้วยการ ใช้สีหรือเส้นลักษณะต่างๆ
     8) แผนภูมิการกระจาย (Scatter Charts)เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงค่าของข้อมูลที่เกิดจากความสัมพันธ์ของตัวแปรสองชุดที่มีการแบ่งช่วงไม่เท่ากัน เพื่อใช้ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรรวมถึงแนวโน้มว่าจะ ไปในทิศทางใด มักถูกใช้ในเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ โดยแผนภูมินี้สามารถให้คําตอบได้ว่าตัวแปรสอง ชุดนั้นสัมพันธ์กันหรือไม่โดยความสัมพันธ์
สามารถสรุปทั่วไปได้ 3 กรณี ได้แก่
          1. สัมพันธ์แบบบวก (Positive Correlation) คือ ตัวแปรหนึ่งเพิ่มอีกตัวแปรหนึ่งจะเพิ่มด้วย
          2. สัมพันธ์แบบลบ (Negative Correlation) คือ ตัวแปรหนึ่งเพิ่มอีกตัวแปรหนึ่งจะลด
          3. ไม่สัมพันธ์กัน (Non-Correlation) ตัวแปร หนึ่งเพิ่มอีกตัวแปรอาจจะลดหรือเพิ่มก็ได้
ข้อดี
          - ใช้ในการสรุปความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวว่าสัมพันธ์ในรูปแบบใด
          - สามารถสร้างเส้นแนวโน้ม (Trendline) และสร้างสมการจากข้อมูลเพื่อพยากรณ์ข้อมูลในอนาคตได้โดยเส้นแนวโน้มอาจจะอยู่ในรูปของสมการ เส้นตรง (Linear), สมการลอการิทึม (Logarithmic), สมการกําลังสอง (Polynomial), สมการกําลัง (Power), สมการเอกซ์โพเนนเชียล (Exponential) และค่าเฉลี่ย (Moving Average)
ข้อเสีย
          - เส้นแนวโน้มที่เกิดจากข้อมูลที่ไม่สัมพันธ์กัน (หรือทางสถิติเรียกว่า R-Squared น้อย) อาจนําไปสู่การสรุปข้อมูลที่ผิด
          - การคํานวณหาเส้นแนวโน้มทําได้ยาก หากข้อมูลมีจํานวนมากต้องให้คอมพิวเตอร์ช่วยในการคํานวณ
          - ในการสร้างแผนภูมิการกระจายได้ต้องรวบรวมข้อมูลให้ได้มากจํานวนหนึ่ง
          - ใช้ได้กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรคู่เดียว
          - ให้ข้อมูลกับผู้ชมเพียงแค่บอกว่าตัวแปรสองตัวสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กันอย่างไร
ข้อควรระวัง
          - แผนภูมิการกระจายนั้นมีโอกาสผิดพลาดได้สูง ซึ่งจะส่งผลต่อการสรุปข้อมูลได้
          - เป็นแผนภูมิที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการแปลความหมาย อีกทั้งยังเป็นแผนภูมิที่ไม่ได้ถูกใช้งานเป็นประจํา ดังนั้น การเลือกใช้งานควร พิจารณาถึงกลุ่มผู้ชมประกอบด้วย
     9) แผนภูมิฟองสบู่ (Bubble Charts) แผนกมิสองมิติทั่วไปไม่ว่าจะเป็นแผนภูมิแท่ง, แผนภูมิเส้นนั้น สามารถนําเสนอข้อมูลได้เพียงแค่ 2 แกน แต่ในกรณีของแผนภูมิฟองสามารถนําเสนอข้อมูลได้ 3 แกน โดยข้อมูลของแกนที่ 3 จะถูกแสดง ให้อยู่ในรูปของฟองสบู่ที่พองออกมา
ข้อดี
          - สามารถแสดงข้อมูลได้ 3 แกนในแผนภูมิ 2 มิติ
          - สามารถแสดงข้อมูลได้หลายชุดในแผนภูมิเดียว
ข้อเสีย
          - การสร้างแผนภูมิมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทําให้ต้องใช้เวลาในการทําความเข้าใจมากขึ้นเช่นกัน
          - ค่าในแกนที่ 3 ไม่สามารถเป็นค่าติดลบได้
ข้อควรระวัง
          - ระวังการซ้อนทับกันของฟองสบู่แต่ละฟอง เพราะบางครั้งฟองเล็กอาจซ้อนอยู่ด้านหลังฟองใหญ่ ทําให้ผู้ชมไม่เห็นข้อมูลได้
          - หากฟองสบู่ข้อมูลมีเป็นจํานวนมากจะทําให้แสดงผลข้อมูลแน่นมากจนเกินไป


แผนภาพของเวนน์

     แผนภาพของเวนน์-ออยเลอร์ (VennEuler Diagram) เป็นแผนภาพที่ใช้ในการอธิบายความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆ ว่าข้อมูลนั้นมีการซ้อนทับ, ไม่ซ้อนทับกันโดยให้วงกลมแต่ละวงแทนข้อมูลแต่ละชุดและแสดงความสัมพันธ์ของแต่ละข้อมูลด้วยการครอบพื้นที่

เส้นเวลา

     เส้นเวลาคือ แผนภูมิกราฟิกประเภทหนึ่งที่ใช้ในการบอกข้อมูล (ส่วนมากเป็นเชิงคุณภาพ) หรือพัฒนาการตามแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ผู้ชมเข้าใ ลําดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต, ปัจจุบัน หรือพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งการใช้เส้นเวลาอาจมีการแตกแขนงออกไปเป็นหลายเส้นตามทางเลือกที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือบางครั้งเส้นเวลาหนึ่งๆ อาจแสดงเรื่องราวหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ระบุในเส้นเวลานั้นจะระบุเฉพาะข้อมูลสําคัญไม่ลงลึกในรายละเอียดเพื่อให้ผู้ชมสามารถมองเห็นภาพรวมได้โดยง่าย
โดยทั่วไปแล้วการออกแบบเส้นเวลาสากลรวมถึงประเทศไทยจะมีการเรียงลําดับเหตุการณ์จากอดีตมาสู่ปัจจุบันในทิศทางจากซ้ายไปขวา แต่ในบางกรณีอาจมีการเรียงลําดับในเวลาที่ต่างออกไป

แผนที่

     แผนที่ (Maps) แผนที่เป็นหนึ่งในกราฟิกที่ใช้ในการแสดงข้อมูลโดยอ้างอิงจากพื้นที่จริง เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพรวมในพื้นที่นั้นๆ โดยทั่วไปแผนที่จะมีการใช้สัญลักษณ์ (Symbols) ประเภทต่างๆ ในการระบุข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ สัญลักษณ์แบบจุด (Point Symbols),สัญลักษณ์แบบเส้น (Line Symbols) และ สัญลักษณ์แบบพื้นที่ (Area Symbols) รวมถึงมีคําอธิบายประกอบด้วยว่าสัญลักษณ์ต่างๆที่ปรากฏในแผนที่นั้นสื่อความหมายถึงอะไร แผนที่สามารถสร้างขึ้นโดยเทียบเคียง อัตราส่วนจากพื้นที่จริงหรือสร้างขึ้นเป็นแผนที่แบบคร่าวๆ ลดทอนรายละเอียดเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกเหนือจากแผนที่ทั่วไปที่เราคุ้นตาแล้ว อินโฟกราฟิกปัจจุบันยังนิยมใช้แผนที่ แสดงข้อมูลและแผนที่ความร้อนในการสื่อความหมาย
          - แผนที่แสดงข้อมูล (Choropleth Maps) เป็นแผนที่ที่แสดงข้อมูลด้วยการใช้สีลงในพื้นที่ที่ถูกแบ่งเอาไว้โดยแต่ละพื้นที่จะมีสีที่แยกจากกันได้อย่างชัดเจน โดยแผนที่แสดงข้อมูลนี้จะมุ่งเน้นที่ “ความแตกต่าง” ที่เกิดขึ้นระหว่างพื้นที่แต่ละส่วน เช่น จํานวน ประชากรในแต่ละเขต, ค่าครองชีพของแต่ละประเทศ, ผลการเลือกตั้ง ในแต่ละรัฐ เป็นต้น
          - แผนที่ความร้อน (Heat Maps หรือ Density Maps) แผนที่ความร้อนไม่ได้หมายถึงแผนที่แสดงอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความหนาแน่นของสิ่งต่างๆด้วย โดยแผนที่ความร้อนจะมุ่งเน้นที่ “ความหนาแน่น” เช่น ความเข้มสัญญาณ Wif ในอาคาร โดยแผนที่ความร้อนมักไม่ได้กําหนดขอบเขตพื้นที่ชัดเจน ดังนั้น จึงมักใช้การไล่สีเป็นตัวบอกข้อมูล เช่น สีเข้ม หมายถึง หนาแน่นมาก, สีอ่อน หมายถึง หนาแน่นน้อย หรือสีแดง หมายถึง หนาแน่นมาก, สีเหลือง หมายถึง หนาแน่นปานกลาง, สีฟ้า หมายถึง หนาแน่นน้อย, ไม่มีสี หมายถึง ไม่มีความหนาแน่นเลย เป็นต้น

พิกโตแกรม

     พิกโตแกรมคือ ไอคอน, สัญลักษณ์หรือกราฟิกที่ใช้แทนคําพูด หรือเติมเต็มความหมายให้สมบูรณ์ หรือเป็นส่วนประกอบที่สําคัญมากของอินโฟกราฟิก โดยมักถูกใช้แทนที่ข้อมูลหรือสื่อความหมายได้โดยไม่ต้อง มีคําอธิบายเพิ่มเติม เนื่องจากพิกโตแกรมนั้นจัดว่าเป็นภาษาสากลที่ผู้ชมต่างเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาทั่วโลกสามารถแปลความหมายและเข้าใจได้โดยสัญชาตญาณ ดังนั้นพิกโตแกรมสามารถเป็นอินโฟกราฟิกได้ด้วยตัวของมันเองหรืออาจนําไปใช้เป็นองค์ประกอบในอินโฟกราฟิกก็ได้
     จุดเริ่มต้นของพิกโตแกรมในฐานะสื่อการเพื่อการสื่อสารเริ่มต้นโดย ออตโต นิวรัก (Otto Neurath) ผู้ประดิษฐ์ไอโซไทป์ (Isotype ย่อมาจาก International System of Typographic Picture Education) ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ผ่านการใช้รูปภาพโดยใช้ภาพวาดสื่อสารไอเดียที่ซับซ้อนไปสู่สาธารณชน ใน ปี ค.ศ.1928 เขาได้ทํางานร่วมกับเกิร์ด อานซ์ (Gerd Arntz) และสร้างไอโซไทป์กว่า 4,000 รูปแบบซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของระบบไอโซไทป์จนถึงปัจจุบัน
     บางครั้งพิกโตแกรมอาจถูกใช้ในรูปแบบของอินโฟกราฟิกบอกตําแหน่งของสิ่งต่างๆ ในสถานที่สาธารณะ เช่น หากเราต้องการมองหาห้องน้ำไม่ว่าจะเป็นในสนามบิน, โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้าเรามักจะเริ่มจากการมองหาป้ายสัญลักษณ์รูปผู้หญิงผู้ชายยืนคู่กัน โดยไม่จําเป็นต้องมีคําอธิบายเขียนกํากับว่า"ห้องน้ำ” หรือ “Toilet” เพิ่มเติม และเมื่อเราเดินมาถึงหน้าห้องน้ำก็ต้องเลือกที่จะเข้าห้องน้ำชาย, ห้องน้ำหญิง, ห้องน้ำสําหรับคนพิการ หรือห้องเปลี่ยนผ้าอ้อม ซึ่งพิกโตแกรมที่ใช้สําหรับแต่ละห้องก็จะแตกต่างกันออกไปในทางตรงกันข้ามป้ายสัญลักษณ์ในถูกเขียนด้วยภาษาที่เราอ่านไม่ออกก็สร้างความสับสนได้ง่ายๆเช่นกัน พึงระวังไว้เสมอว่าบางพิกโตแกรมนั้นจําเป็นต้องใช้ร่วมกันเพื่อสื่อความหมาย เช่น พิกโตแกรมสําหรับสื่อถึงห้องน้ำต้องใช้เป็นรูปผู้ชายคู่กับผู้หญิงไม่สามารถใช้เป็นรูปผู้ชายเดี่ยวๆ ได้ เป็นต้น การออกแบบพิกโตแกรมสําหรับบอก ตําแหน่งจําเป็นต้องมีการตรวจสอบความ เข้าใจของผู้ชมด้วย ครั้งหนึ่งในสมัยที่ผู้เขียน กําลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยม สนามบิน สุวรรณภูมิกําลังอยู่ในการก่อสร้างช่วงสุดท้าย ทีมออกแบบภายในของสนามบินได้เชิญ นักเรียนในโรงเรียนเข้าร่วมการทดสอบอินโฟกราฟิกโดยการแจก Boarding Pass จําลองสถานการณ์แบบต่างๆ ให้กับนักเรียนแต่ละคนและให้นักเรียนเดินทางไปยัง Gate ปลายทาง ในฐานะผู้โดยสารขาออกและเดินกลับมายังทางออกสนามบินสุวรรณภูมิในฐานะผู้โดยสารขาเข้า โดยจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆจากพนักงานเลยให้อาศัยข้อมูลจากป้าย อินโฟกราฟิกนําทางเท่านั้น หากมีนักเรียนคนใดไม่สามารถทําตามภารกิจดังกล่าวได้ทีมออกแบบจะเข้ามาสอบถามเพื่อปรับปรุงอินโฟกราฟิกรวมถึงตําแหน่งและความถี่ในการติดตั้งป้ายต่อไป
     การเลือกใช้งานพิกโตแกรมดูผิวเผินอาจดูเหมือนง่ายเพราะผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดรูปพิกโตแกรมที่มีอยู่มากมายบนอินเทอร์เน็ตแต่ความเป็นจริงแล้วการเลือกใช้พิกโตแกรมต้องเลือกสไตล์การออกแบบที่สอดคล้องกัน รวมถึงสอดคล้องกับองค์ประกอบอื่นๆโดยรอบซึ่งในบางครั้งอาจจําเป็นต้องว่าจ้างนักออกแบบให้ช่วยออกแบบพิกโตแกรมเฉพาะในกรณีที่ต้องการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับผลงาน, อาคาร หรือ เว็บไซต์ เป็นต้น

วิดีโอที่น่าสนใจ